การนับสีงานพิมพ์ อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อต้นทุนของ Packaging

เมื่ออยากทำเซ็ตของขวัญตอบแทนลูกค้าสักชิ้น เราต้องเริ่มคำนึงจากสินค้าที่อยู่ภายใน ไปจนถึงตัวบรรจุภัณฑ์ที่อยู่ด้านนอกด้วย เพราะสิ่งที่ดึงดูดความสนใจจากลูกค้านั้นก็คือกล่องที่อยู่ด้านนอกนั่นเอง เพราะฉะนั้นการออกแบบกล่องเซ็ตของขวัญจึงต้องคำนึงถึงลวดลาย ดีไซน์ และสีสันเป็นอย่างมาก

แน่นอนว่าการพิมพ์สีและลวดลายของบรรจุภัณฑ์นั้นสามารถทำได้หลากหลายตามที่แบรนด์หรือเจ้าของกิจการต้องการ แต่การพิมพ์สีในงานพิมพ์นั้นมีต้นทุนที่แตกต่างกันไปอย่างชัดเจน เนื่องจากการคำนวณสีนั้นไม่ได้อยู่แค่ที่รูปแบบหรือขนาดของกล่อง แต่ยังรวมถึงการนับสีในงานพิมพ์ด้วย  โดยหลักการนับสีในงานพิมพ์นั้นจะมีหลักง่ายๆ อยู่ว่า การพิมพ์ 1 สี เท่ากับ 1 เพลท และในงานพิมพ์นั้นจะใช้จำนวนเพลทมากที่สุดคือ 4 เพลท (ยกเว้นจะมีเพิ่มในส่วนของสีพิเศษเข้ามา) โดยหลักๆ แล้วการนับสีในงานพิมพ์นั้นแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็แตกต่างกันออกไป

เริ่มที่อย่างแรก การพิมพ์สีเดียว (1 สี) ซึ่งการพิมพ์ประเภทนี้ที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็นงานพิมพ์ประเภท ขาว-ดำ แต่งานพิมพ์สีเดียวนั้นสามารถเป็นสีอื่นนอกจาก ขาว-ดำ ได้ และยังสามารถไล่สีเข้ม กลาง อ่อน ในสีที่ใช้ได้ด้วย

ต่อมาคือการพิมพ์ 2 หรือ 3 สี การพิมพ์ประเภทนี้จะนับจากสีที่พิมพ์ลงไปบนกระดาษเท่านั้น เช่นเราต้องการพิมพ์สีน้ำเงินและสีส้มลงบนกระดาษขาว ในส่วนของสีขาวที่เป็นกระดาษจะไม่นับ และนับเพียงแค่ 2 สี คือ สีน้ำเงินและสีส้มเท่านั้น การเลือกพิมพ์ประเภทนี้จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของสีที่เลือกเป็นอย่างมาก ต้องออกแบบให้ดึงดูด และสะดุดตาผู้ที่พบเห็นได้

การพิมพ์ 4 สี การพิมพ์สีสีนั้นจะมีชื่อเฉพาะทางการพิมพ์ที่เรียกว่า CMYK ซึ่ง C หมายถึง Cyan ฟ้าอมเขียว , Magenta แดงอมม่วง , Yellow เหลือง , Key สีดำ ซึ่งเมื่อสีทั้ง 4 นี้ผสมหรือนำมาพิมพ์ซ้อนทับกันแล้วแล้วจะทำให้เกิดสีสันที่มากมายในงานพิมพ์ การพิมพ์ประเภทนี้จึงถูกนิยมนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย และเป็นที่นิยมที่สุด เพราะถึงแม้จะชื่อว่าการพิมพ์ 4 สี แต่สีที่ออกมานั้นมีมากกว่า 4 สี และเป็นได้ทุกสี ยกเว้นก็แค่ สีพิเศษ ดังนั้นหากต้องการทำงานพิมพ์ที่เน้นหลากหลายสี อย่าลืมตั้งค่าไฟล์ให้เป็นสี CMYK แทน RGB นะคะ

มาถึงแบบสุดท้าย ซึ่งนั่นก็คือ สีพิเศษ นั่นเอง ก่อนหน้านี้เราได้รู้จักการพิมพ์แบบ 4 สีแล้วว่า การพิมพ์แบบนี้สามารถเป็นไปได้ทุกสี แต่นั่นก็ยังเกินความสามารถที่จะกลายเป็นสีพิเศษได้ เพราะฉะนั้นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าสีพิเศษคืออะไร

การพิมพ์สีพิเศษนั้นก็คือการพิมพ์สีเฉพาะ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์ โดยสีพิเศษนั้นจะถูกอ้างอิงมาจากค่าสีตามมาตรฐานของ PANTONE เป็นหลัก เพื่อให้ลูกค้าเลือกสีได้ตรงตามความต้องการมากที่สุด การพิมพ์สีพิเศษนั้นจะเป็นสีที่ผสมใหม่หน้าแท่นพิมพ์ มักจะนิยมใช้พิมพ์เป็นสีตายสีเดียวไม่ผสมสีอื่นเลย เพื่อให้สีนั้นโดดเด่นมากที่สุด นอกจากสี Pantone แล้ว ก็จะมีสีอีกประเภทที่เป็นสีพิเศษเช่นกัน นั่นก็คือสีพวก Metallic เช่น สีเงิน สีทอง หรือสีที่มีลักษณะมันวาว สีสะท้อนต่างๆ และแน่นอนว่าการพิมพ์สีประเภทนี้ จะมีราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ถ้าเทียบกับความโดดเด่นแล้ว ก็เป็นอีกเทคนิคที่น่าสนใจไม่น้อยเลย

เมื่อเข้าใจการนับสีงานพิมพ์แล้ว ไม่ใช่เพียงแค่จะทำให้เราประเมิณต้นประมาณได้แล้ว ยังทำให้เราเลือกใช้งานได้เหมาะกับตัวบรรจุภัณฑ์นั้นๆ ได้ดีขึ้นอีกด้วย หากมีแบบบรรจุภัณฑ์ในใจ หรืออยากผลิตสินค้าพรีเมี่ยมแบบ เซ็ตของขวัญแล้วสามารถโทรมาปรึกษา FROST PREMIUM ได้นะคะ เรายินดีให้คำปรึกษาทั้งตัวบรรจุภัณฑ์ด้านนอกและสินค้าด้านในเลย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *